สำนักบริการวิชาการ เดิมชื่อว่า ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง เป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะ ก่อตั้งขึ้นตามประกาศพระราชกฤษฏีกา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 (พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2532) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์บริการวิชาการ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2542 (พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2542)
และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักบริการวิชาการ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 (พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2558) สถานที่ทำการปัจจุบัน คือ อาคารพิมล กลกิจ ชั้น 5 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
1. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและระดมทรัพยากร ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อจัดบริการให้การศึกษาและอบรมแก่ประชาชนระดับต่าง ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในหัวข้อวิชาการและวิชาชีพที่ผู้เข้ารับการศึกษาและอบรมสนใจ เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ ทักษะ และค่านิยมต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ
2. ร่วมมือกับคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการให้บริการแก่ชุมชน
3. สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน
4. เผยแพร่และประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย
มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการบริหารงานทั่วไปเสมือนเป็นหน่วยงานกลาง (Back Office) ภายในสำนักบริการวิชาการเพื่ออำนวยการให้การดำเนินงานของหน่วยงานย่อยอื่น ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โดยประกอบด้วยภารกิจด้านสารบรรณ การเจ้าหน้าที่และสวัสดิการ การติดต่อประสานงานและวางแผนกับฝ่ายต่าง ๆ ภายในสำนักบริการวิชาการ อาคารสถานที่ โสตทัศนูปกรณ์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ การบริการสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำแผนปฏิบัติการ การให้บริการข้อมูลสารสนเทศ การจัดทำระบบฐานข้อมูล การรวบรวมข้อมูลเพื่อการจัดทำระบบประกันคุณภาพ
มีหน้าที่ในการประสานบริการวิชาการสู่สังคม (Community Outreach) ดำเนินการให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อร่วมขับเคลื่อนการให้บริการวิชาการในรูปแบบของการสร้างคุณค่าร่วมกัน (CSV; Creating Shared Value) มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ (MOU หรือ MOA) เพื่อร่วมกันสรรสร้างโครงการหรือกิจกรรมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาสังคม
มีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1) การจัดการหลักสูตรบูรณาการศาสตร์ (Integrated Curriculum) ตามความต้องการของสังคม โดยจัดทำหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นจัดการเรียนการสอนตามกระบวนทัศน์ใหม่ (New Learning Paradigm) เป็นหลักสูตรอนุมัติปริญญา (Degree) ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ในหลากหลายรูปแบบ มีการเรียนการสอนที่ผสมผสาน (Hybrid/Blended Learning) ทั้งการเรียนในห้องเรียน และการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ (On-site/On-line Learning) สำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มทักษะ ความรู้เพิ่มเติม และมีหลักสูตรที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และเน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต (Future Skill) ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 2) การจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) เน้นหลักสูตรอนุมัติวุฒิบัตร (Certificate or Non-Degree) ที่มีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย แหล่งความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายและเปิดกว้างสำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยการ Reskill/Upskill หรือ New Skill ให้แก่ผู้เรียนทุกช่วงวัย เน้นหลักสูตรที่มีการรับรองสมรรถนะหรือสะสมหน่วยกิตการเรียนรู้ในคลังหน่วยกิต (Credit Bank) รวมถึงการอบรมหลักสูตรระยะสั้น (Professional Training หรือ Short Courses Training) เพื่อสนองตอบต่อยุทธศาสตร์ชาติทั้งในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ สร้างโอกาสทางการศึกษาและความเสมอภาคทางสังคมให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นหน้าบ้าน (Front Office) ให้กับการจัดการศึกษาตลอดชีวิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย