สำนักบริการวิชาการ เดิมชื่อว่า ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง เป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะ ก่อตั้งขึ้นตามประกาศพระราชกฤษฏีกา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 (พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2532) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์บริการวิชาการ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2542 (พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2542)
และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักบริการวิชาการ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 (พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2558) สถานที่ทำการปัจจุบัน คือ อาคารพิมล กลกิจ ชั้น 5 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
1. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและระดมทรัพยากร ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อจัดบริการให้การศึกษาและอบรมแก่ประชาชนระดับต่าง ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในหัวข้อวิชาการและวิชาชีพที่ผู้เข้ารับการศึกษาและอบรมสนใจ เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ ทักษะ และค่านิยมต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ
2. ร่วมมือกับคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการให้บริการแก่ชุมชน
3. สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน
4. เผยแพร่และประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย
เป็นหน่วยงานภายในที่ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการงานทั่วไป ทำหน้าที่เสมือนเป็นหน่วยงานหลังบ้าน (Back Office) ของสำนักบริการวิชาการเพื่ออำนวยการให้การดำเนินงานของหน่วยงานภายในอื่น ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ประกอบด้วย 2 ภารกิจ คือ (1)ภารกิจสารสนเทศและบริหารงานทั่วไป รับผิดชอบด้านสารบรรณ การเจ้าหน้าที่และสวัสดิการ การให้บริการข้อมูลสารสนเทศ การจัดทำระบบฐานข้อมูล การติดต่อประสานงาน อาคารสถานที่ โสตทัศนูปกรณ์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ การบริการสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ห้อง Production House นอกจากนั้นยังเป็นหน่วยประสานงานของศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (2) ภารกิจแผน การเงิน และพัสดุ รับผิดชอบด้านการจัดทำแผนปฏิบัติการ การรวบรวมข้อมูลเพื่อการจัดทำระบบประกันคุณภาพ การบริหารความเสี่ยง การบริหารองค์กรที่ดี การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารงบประมาณ การบริหารอัตรากำลัง การยืมการคืนเงินทดรองจ่าย การบริหารจัดการพัสดุ
เป็นภารกิจตั้งแต่เริ่มต้นของการก่อตั้งสำนัก ปัจจุบันมีหน้าที่ในการประสานบริการวิชาการสู่สังคม ตอบสนองปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการเป็นองค์กรที่มุ่ง “อุทิศเพื่อสังคมและชุมชน” โดยเฉพาะการประสานให้คณาจารย์ นักวิจัย ตลอดจนบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนำผลงานวิจัย และนวัตกรรมจากการจัดการเรียนการสอนไปร่วมขับเคลื่อนการให้บริการวิชาการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Societal Contribution) มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ (MOU หรือ MOA) เพื่อร่วมกันสรรสร้างโครงการหรือกิจกรรมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย สร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและชุมชน (Community Support) ทั้งนี้อาจมีการบูรณาการภารกิจในส่วนนี้ร่วมกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนและพัฒนานักศึกษาให้เป็นพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 ไปพร้อมกัน
เป็นหน่วยงานหน้าบ้าน มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1. การจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) เน้นหลักสูตรประกาศนีบัตร (Certificate or Non-Degree) ที่มีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย แหล่งความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายและเปิดกว้างสำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยการ Reskill, Upskill, New Skill, Unlearn และ Relearn ให้แก่ผู้เรียนทุกช่วงวัย เน้นหลักสูตรที่มีการรับรองสมรรถนะหรือสะสมหน่วยกิตการเรียนรู้ในคลังหน่วยกิต (Credit Bank) รวมถึงการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น (Professional Training หรือ Short Courses Training) เพื่อสนองตอบต่อยุทธศาสตร์ชาติทั้งในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ สร้างโอกาสทางการศึกษาและความเสมอภาคทางสังคมให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นหน้าบ้าน (Front Office) ให้กับการจัดการศึกษาตลอดชีวิตของทุกส่วนงานภายในของมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย
2. การจัดการหลักสูตรบูรณาการข้ามศาสตร์ (Integrated Curriculum) ตามความต้องการของสังคม โดยทำหน้าที่ในการประสานงานให้หลักสูตรมีการจัดการเรียนการสอนตามกระบวนทัศน์ใหม่ (New Learning Paradigm) เป็นหลักสูตรอนุมัติปริญญา (Degree) ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ในหลากหลายรูปแบบ มีการเรียนการสอนที่ผสมผสาน (Hybrid/Blended Learning) ทั้งการเรียนในห้องเรียน และการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ (On-site/On-line Learning) เน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต (Future Skills) ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัจจุบันมีหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหาร (Culinary Science And Technology) เป็นหลักสูตรบูรณาการข้ามศาสตร์ที่สำนักบริการวิชาการได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน โดยมี 5 คณะวิชาที่ร่วมในการจัดทำหลักสูตร/จัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย คณะเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ และคณะศึกษาศาสตร์ ศูนย์การจัดการศึกษาตลอดชีวิตมีการแบ่งหน่วยงานย่อยเป็น 3 ภารกิจ ประกอบด้วย (1) ภารกิจการจัดการศึกษาตลอดชีวิต มีหน้าที่หลักในการประสานการจัดหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิตกับหน่วยงานทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัย รวมถึงการเป็นผู้ประสานงานหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ทั้งประเภทที่เป็นหลักสูตรให้ปริญญา (Degree) และหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non Degree) (2) ภารกิจด้านการตลาดและความร่วมมือกับหน่วยงานภายใน ทำหน้าที่หลักในการจัดการด้านการประชาสัมพันธ์ในกลุ่มลูกค้าของหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งหลักสูตรฝึกอบรม และหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต ทั้งในส่วนที่เป็นหลักสูตรของสำนักบริการวิชาการ หรือหลักสูตรของส่วนงานอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ในการประสานงานเพื่อทำหลักสูตรฝึกอบรม หรือหลักสูตรระยะสั้นร่วมกับคณาจารย์หรือนักวิจัยของส่วนงานอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย และ (3) ภารกิจจัดการหลักสูตรบูรณาการข้ามศาสตร์ ทำหน้าที่ในการประสานงานอำนวยความสะดวกให้การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาหารเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนั้นยังช่วยในการดูแลแพลทฟอร์มหน้าบ้านการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (KKU Lifelong Education Platform) ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย